กระทรวงพลังงานและจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับศูนย์วิจัยพลังงานแห่งเอเชียแปซิฟิก
จัดการประชุม “The APEC 3rd Sectoral Symposium on Bioenergy ”
ภายใต้กรอบความร่วมมือคณะทำงานด้านพลังงานเอเปค ณ จังหวัดขอนแก่น
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์
รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม “The APEC 3rd Sectoral Symposium on Bioenergy” ณ ห้องประชุม ออคิด บอลรูม โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือคณะทำงานด้านพลังงานเอเปคดำเนินการโดยศูนย์วิจัยพลังงานแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Energy Research Centre: APERC) ร่วมกับกระทรวงพลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงเป็นเวทีในการหารือเชิงนโยบายและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญเขตเศรษฐกิจเอเปคซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพของการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคพลังงานควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญภาคพลังงานจากเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วมการประชุมฯ กว่า 60 คนจากกว่า 15 เขตเศรษฐกิจเอเปคซึ่งในงานมีการนำเสนอข้อมูลและการเสวนาในเรื่องแนวนโยบายและภาพอนาคตของการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงการหารือแนวทางในการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการใช้ประโยชน์เชื้อเพลิงชีวภาพในภูมิภาคเอเปคเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นสองเท่าภายในปี ค.ศ. 2030 และลดค่าความเข้มข้นของการใช้พลังงานลงร้อยละ 45 ภายในปี ค.ศ. 2035 ของภูมิภาคเอเปค และการบูรณาการแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG)
นอกจากนี้ ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ผู้เข้าร่วมการประชุมได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ โรงงานเอทานอล มิตรผล ไบโอฟูเอล (ภูเขียว) จังหวัดชัยภูมิ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตเอทานอลจากอุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งเป็นต้นแบบการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรในท้องถิ่นเพื่อผลิตเป็นพลังงานสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงานในการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและเป็นการนำแนวคิด BCG model มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาภาคพลังงานให้สามารถขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม